จากการชวนคุยเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศในวัยเด็ก มีลูกเพจท่านหนึ่งเล่าเรื่องตอนที่มีหมอไปตรวจสุขภาพเด็ก ๆ ในโรงเรียน แต่ตอนที่หมอตรวจด้วยหูฟัง กลับรู้สึกเหมือนโดนสัมผัสหน้าอกอย่างรุนแรง
ซึ่งในวัยนั้นตัวเค้าเองก็ไม่เคยไปรพ. ไม่รู้ว่า ปกติแล้วหมอตรวจกันยังไง แอดหมอจึงอยากมาเล่าให้ฟังว่า การตรวจร่างกายด้วยมาตรฐานวิชาชีพที่ควรจะเป็น มันเป็นยังไง
“มือจะสัมผัสหน้าอกไหม เวลาใช้หูฟัง”
การใช้เครื่องมือหูฟัง จะแนะนำให้จับด้วยปลายนิ้วคีบ อุ้งมือแทบจะไม่สัมผัสคนไข้เลย แต่ด้วยท่าทางและการบิดข้อมือบางครั้งอาจจะมีสัมผัสโดนคนไข้บ้าง แต่จะถูกสอนให้ระวังเสมอโดยเฉพาะบริเวณหน้าอก
“ทำไมบางครั้งต้องเปิดเสื้อ”
การฟังผ่านเสื้อ อาจมีเสียงกวนจากเนื้อผ้าเสียดสีได้ บางครั้งอาจจะต้องเปิดเสื้อโดยใช้มืออ้อมเข้าไปใต้เสื้อบ้าง โดยปกติจะไม่ให้คนไข้แก้ผ้าเพื่อฟังปอดหรือหัวใจ ถ้าจำเป็นต้องเปิดก็จะให้เปิดเพียงเฉพาะส่วนที่ต้องการฟังเท่านั้น
"มืออีกข้างสัมผัสตัวคนไข้ ปกติหรือแปลก"
ตามปกติการฟังใช้มือเพียงข้างเดียวก็มักจะฟังได้ยินแล้ว แต่ก็อาจมีการใช้อีกมือช่วยจับเพื่อไม่ให้เขยิบถอยหนีหูฟังไป แต่จะไม่สัมผัสแน่นจนทำให้รู้สึกอึดอัด
“ควรมีผู้ช่วยพยาบาลเป็นบุคคลที่สาม”
การตรวจร่างกาย โดยเฉพาะตรงจุดที่มีความสุ่มเสี่ยง (เช่น นอนตรวจเพื่อฟังเสียงหัวใจ แล้วให้ปลดกระดุมเสื้อ) จะต้องมีบุคคลที่สามอยู่ด้วยเสมอ แต่ในบางครั้งในทางปฏิบัติอาจจะไม่ได้มีคนอื่นเสมอไปด้วยข้อจำกัดเรื่องจำนวนบุคลากร เช่น การนั่งฟังด้วยหูฟังที่ไม่ได้ถอดหรือเปิดเสื้อผ้า
“ใช้อุปกรณ์หูฟัง ฟังบริเวณคอ และท้อง”
เวลาดูละคร เรามักเห็นหมอตรวจบริเวณแถวอก หรือหลังเท่านั้น แต่จริง ๆ หูฟังก็สามารถใช้ตรวจเพื่อฟังเสียงบริเวณคอ และหน้าท้องได้ อันนี้เป็นเรื่องปกติ แต่ด้วยหลักการเดียวกันก็คือ จะหลีกเลี่ยงการสัมผัสเนื้อตัวคนไข้ให้มากที่สุด
ขอยกตัวอย่างเพียงเท่านี้ก่อน หากใครมีประสบมีคำถามที่อยากถามเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของหมอ สามารถพิมพ์ถามไว้ได้ค่ะ