อาการแบบไหนที่ควรไปโรงพยาบาล - ตกขาว เลือดออก

A girl holding an ill-looking flower as a metaphor of a girl trying to find a way to cure her vaginal disease.


เมื่อน้องสาว หรือจิ๋มเจ็บป่วย จะไปหาหมอที่ไหนดี ราคาเท่าไหร่ บอกหมอว่าอะไร ต้องพาใครไปด้วยไหม และอื่น ๆ อีกมากมาย 

เรื่องนี้รวบรวมมาจากคำถามหลังไมค์ที่คนมาถามกัน โดยส่วนใหญ่มักเป็นคนที่ไม่เคยไปโรงพยาบาล จึงนำมาอธิบายให้เข้าใจกัน


“ไปที่ไหน”

จริง ๆ อยากแนะนำให้ไปตามสถานพยาบาลที่ตัวเองมีสิทธิ์การรักษาอยู่ เพราะถ้าเราไปตามสิทธิ์ จะแทบไม่เสียค่าใช้จ่าย และมักจะอยู่ใกล้ที่อยู่ตามทะเบียนบ้านด้วย 


“สิทธิ์การรักษาของเราอยู่ที่ไหน”

หากใครไม่ทราบว่าตัวเองมีสิทธิ์ที่ไหน ลองสอบถามคนในครอบครัวหรือผู้ปกครองดูก่อน แต่หากไม่ได้คำตอบ สามารถตรวจสอบสิทธิ์การรักษาได้ที่ http://eservices.nhso.go.th/eServices/mobile/login.xhtml 


“ไม่อยากไปตามสิทธิ์ ไปที่ไหนดี”

บางคนอาจจะไม่ได้อยู่ใกล้สถานพยาบาลนั้น จึงขอแนะนำให้ไปที่ที่เราสะดวก ซึ่งความสะดวกหมายถึง 3 เรื่อง ได้แก่ สะดวกเดินทาง (ใกล้บ้าน) สะดวกกระเป๋าเงิน (ค่าใช้จ่ายเหมาะสม) และสะดวกใจ (สบายใจ) 


“ราคาประมาณเท่าไหร่”

หากไปตามสิทธิ์การรักษาแทบจะไม่เสียเงินเลย แต่หากไม่ได้ไปตามสิทธิ์ คงไม่มีตัวเลขตายตัวชัด ๆ จะลองกะให้คร่าว ๆ นะ 

ถ้าไปโรงพยาบาลรัฐบาลมักจะอยู่ที่หลักร้อย ถ้าไปคลินิกและโรงพยาบาลเอกชนจะแพงกว่านี้ อาจถึงหลักพัน แต่ทั้งนี้ขึ้นกับอาการเจ็บป่วยของแต่ละคนด้วย 


“แถว ๆ บ้านมีโรงพยาบาลไหนเป็นโรงพยาบาลรัฐบ้าง”

สอบถามผู้ปกครอง หรือผู้รู้ท่านอื่น หากไม่อยากถามใคร หรือไม่ได้คำตอบ ให้เข้าไปที่ google maps พิมพ์ว่า “โรงพยาบาล” เพื่อค้นหาโรงพยาบาลบริเวณใกล้ ๆ ที่ตัวเองอยู่ แล้วนำชื่อเหล่านั้นไปค้นหาต่อใน google อีกที เช่นพิมพ์ว่า “โรงพยาบาล xxx รัฐหรือเอกชน” 


“ไปหาหมออะไร”

เริ่มจากไปที่จุดคัดกรองก่อน และเล่าอาการคร่าว ๆ ให้เจ้าหน้าที่ฟัง เช่น ตกขาว เลือดออกช่องคลอด เจ้าหน้าที่จะทำการคัดกรองและส่งไปพบหมอที่จะช่วยดูแลให้ 

ทั้งนี้ขึ้นกับแต่ละสถานพยาบาล เช่น บางโรงพยาบาลจะให้พบหมอทั่วไปก่อน ซึ่งตอนเรียนหมอ 6 ปี ทุกคนจะได้เรียนรู้จิ๋มและสามารถให้การดูแลได้อยู่แล้ว แต่บางโรงพยาบาลก็จะให้พบหมอสูตินรี ฯ ตั้งแต่แรกเลย 


“ต้องพาผู้ปกครองไปไหม”

หากอายุเกิน 15 ปี ตามกฎหมายสามารถเข้ารับการตรวจได้เองเลย ไม่ต้องมีผู้ปกครองไปด้วย แต่ในทางปฏิบัติอาจจะยังไม่เป็นไปตามนี้ในบางสถานพยาบาล แนะนำให้โทรเช็คก่อน จะได้ไม่ต้องเสียเวลาหยุดเรียนแล้วไม่ได้รับการตรวจ 


“ต้องเอาอะไรไปบ้าง”

ยาที่เคยใช้ ไม่ว่าจะเคยรักษาที่อื่น หรือพยายามรักษาตัวเองด้วยการซื้อยามาเหน็บ มาทา มากิน ให้นำไปให้หมอดูด้วย เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการรักษา 


“ถ้าหมอคนแรกรักษาแล้วไม่ดีขึ้น ควรทำอย่างไร”

กลับไปหาหมอซ้ำ และเล่าอาการให้ฟังว่าอาการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง หรือหากไม่อยากพบหมอคนแรกแล้ว ด้วยเหตุผลใด ๆ แจ้งที่เจ้าหน้าที่ได้ว่าขอเปลี่ยนหมอได้ไหม ถ้าหากตัดสินใจเปลี่ยนหมอ ให้นำยาไปให้คนที่สองดูด้วย 


“ตรวจภายในเจ็บไหม”

บางคนจะกังวลว่าไปแล้วจะต้องตรวจภายใน หรือเปิดจิ๋มให้หมอดู ใจเย็น ๆ ก่อน มันไม่ได้จำเป็นต้องตรวจในทุกเคส และหากสงสัยเกี่ยวกับเรื่องตรวจภายใน เคยเขียนไว้แล้วเมื่อปีก่อน ตามไปอ่านกันได้ที่ เรื่องการตรวจภายใน


รักน้อง อย่าปล่อยให้น้องป่วย พาน้องไปหาหมอด้วยนะ 

เพจน้องสาว

ใหม่กว่า เก่ากว่า