ปวดท้องเมนส์ ทำไงดี

 


บทความนี้รวบรวมสารพัดวิธีลดอาการปวดท้องเมนส์ จากหมอ 3 แผน และไขข้อข้องใจว่าทำไมถึงไม่ควรกินน้ำเย็น น้ำมะพร้าวตอนเมนส์มา


อาการปวดท้องเมนส์เป็นเรื่องที่พบได้บ่อยในผู้มีเมนส์ บทความนี้จะมาชวนคุยเรื่อง “อาการปวดท้องเมนส์” ในมุมมองหมอ 3 แผน ได้แก่ แอดหมอ แพทย์แผนปัจจุบัน หมอมาร์ค แพทย์แผนไทยประยุกต์ และหมอจิง แพทย์แผนจีน


ในบทความนี้จะครอบคลุมเนื้อหาเกี่ยวกับ

  • มุมมองการแพทย์แผนปัจจุบัน
  • มุมมองการแพทย์แผนไทย
  • มุมมองการแพทย์แผนจีน

มุมมองการแพทย์แผนปัจจุบัน

1.   ก่อนอื่นคงต้องแยกให้ออกก่อนว่าอาการปวดเมนส์นั้นเป็นเรื่องปกติ หรืออาจมีโรคบางอย่างซ่อนอยู่ โดยมีวิธีที่เราจะสังเกตได้ง่าย ๆ เช่น ปวดตลอดรอบเมนส์ ปวดมากขึ้นในแต่ละเดือน และมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วยหรือไม่ ดูวิธีแยกได้ในคลิปนี้


2.   ถ้าทบทวนดูแล้ว คิดว่าอาการปวดเมนส์เข้าข่ายกลุ่มที่มีโรคบางอย่างซ่อนอยู่ แนะนำให้ไปตรวจกับสูตินรีแพทย์ แล้วค่อยใช้วิธีปรับอาหารและพฤติกรรมในบทความนี้ควบคู่ไปด้วย


3.   คำอธิบายที่สมเหตุสมผลมากที่สุดของแผนปัจจุบันคือ สารที่ชื่อว่า Prostaglandin (โพรสตาแกลนดิน) ซึ่งทำหน้าที่กระตุ้นให้มดลูกหดตัวเพื่อขับเมนส์ มดลูกยิ่งบีบเยอะก็ยิ่งปวด


4.   Prostaglandin มาจากพวกกรดไขมัน เพราะฉะนั้น ถ้ากินของไขมันต่ำ หลีกเลี่ยงอาหารมัน และกินพวกผักผลไม้ ธัญพืช ก็จะช่วยลดการอักเสบ และลดปวดได้ แต่!


5.   จากงานวิจัยของแพทย์แผนปัจจุบัน ก็ไม่เห็นข้อแตกต่างแน่ชัดว่า เมื่อปรับการกินอาหารแล้วจะช่วยลดการปวดท้องเมนส์ได้จริง (จากประสบการณ์ส่วนตัวของแอดเองก็เช่นกัน)



มุมมองการแพทย์แผนไทย


6.   อาการปวด - เกิดจาก ลมเคลื่อนได้ไม่ดี ถ้าไฟอุ่นพอดี การเคลื่อนของลมก็จะดีไปด้วย แต่ถ้าไฟมากหรือน้อยเกินไปก็จะทำให้ลมเคลื่อนได้ไม่ดี (ผิดปกติ) จนเกิดอาการปวดได้ ดังนั้นการกินของรสร้อนจึงจะดี แต่กินของรสเย็นจะทำให้ลมไม่ดี จึงมีอาการปวด


7.    อาการปวดเมนส์ - มดลูกต้องอุ่น หากไม่อุ่นลมจะเข้าแทรก และทำให้เกิดอาการปวดท้องเมนส์ได้ 


8.    ปวดเมนส์ร่วมกับเมนส์มาน้อย เป็นลิ่มเป็นก้อน - แนะนำให้กินน้ำขิง หรือน้ำมะตูม เพราะน้ำขิงจะทำให้ไฟกระจุกที่แกนกลางร่างกาย (รวมถึงมดลูก) ส่วนน้ำมะตูมจะช่วยขับลมในร่างกาย ให้นำผลมะตูมอ่อนย่างไฟ ต้มในน้ำร้อนดื่ม


9.    แต่หากปวดจากสาเหตุอื่น ๆ ของแผนไทย เช่น เลือดหนืด - ให้กินพวกชาฝางเพื่อบำรุงเลือด / โลหิตจาง - ให้กินพวกชาดอกคำฝอย / เมนส์มาเยอะจนบีบตัวมาก - ให้กินน้ำอุณหภูมิห้อง ชาดอกไม้ อาหารรสขม เช่น มะระ สะเดา


10.   อ่านถึงตรงนี้อาจจะสงสัยว่า แล้วเราเป็นจากสาเหตุไหน หมอมาร์คได้ให้คำแนะนำว่า ลองกินน้ำและอาหารตามนี้ดูก่อนได้ แต่หากไม่ดีขึ้น แนะนำให้ไปพบสูตินรีแพทย์ก่อน และถ้าไม่มีโรคอะไรซ่อนอยู่ แนะนำมาพบแพทย์แผนไทยต่อ


11.   น้ำต่าง ๆ ที่แนะนำไปในข้อ 8-9 ไม่จำเป็นต้องกินทุกวัน แนะนำให้กินในช่วงใกล้เมนส์มาก็เพียงพอแล้ว


12.   ตามแผนไทยยังมีบอกด้วยว่า ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่เย็นกว่าปกติมาก ( ไอศกรีม น้ำแข็ง น้ำมะพร้าว เฉาก๊วย แตงโม แตงกวา แตงไทย แตงร้าน) และอาหารที่ร้อนกว่าปกติมาก - รสจัด (เผ็ดเปรี้ยวเค็มหวานจัด) หมักดอง (ปลาร้า ผลไม้ดอง โยเกิร์ต นมเปรี้ยว)


13.   นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมช่วงเมนส์มาถึงควรหลีกเลี่ยงน้ำมะพร้าวและน้ำเย็น เพราะมันจะส่งผลทำให้มีอาการปวดท้องเมนส์ได้ ส่วนคนที่กินแล้วแต่ไม่เห็นปวดท้องเมนส์เลย ก็ไม่ต้องแปลกใจ เพราะร่างกายแต่ละคนไม่เหมือนกัน คุณอาจเป็นคนที่มดลูกร้อนอยู่แล้ว


14.   นอกจากนี้ยังมีพฤติกรรมอีก 7 อย่าง ได้แก่ อดนอนอดอาหาร กลั้นฉี่อึ โกรธ เศร้า อยู่ในอิริยาบถเดิมนาน ๆ (ลมเคลื่อนน้อย) ทำงานเยอะ (ยกของหนัก ใช้สายตามาก) เดี๋ยวร้อนเดี๋ยวหนาว (ห้องแอร์แล้วตากแดด) ก็มีความเกี่ยวข้องกับการปวดท้องเมนส์ได้เช่นกัน



มุมมองการแพทย์แผนจีน


15.   ตามหลักของแผนจีน การปวดโดยทั่วไปเกิดจาก 2 สาเหตุ คือ มีสิ่งที่ทำให้ติดขัดอุดกั้น (รักษาโดยเน้นการระบาย กระตุ้นการไหลเวียนชี่และเลือด) และการขาดการหล่อเลี้ยงบำรุง (รักษาโดยการบำรุงเลือด ลมปราณ อวัยวะ)


16.   ส่วนการปวดท้องเมนส์ตามแผนจีน มี 6 สาเหตุ จะขอยกมาเล่า 2 สาเหตุที่เจอบ่อย คือปวดท้องเมนส์จากความเย็นอุดกั้น (ข้อ 17-19) และกลุ่มชี่ติดขัด (ข้อ 20-21)


17.   การปวดท้องเมนส์ที่เกิดจากความเย็นอุดกั้น จะมีอาการจะปวดมาก ขี้หนาว มือเท้าเย็น โดยจะแบ่งเป็นสาเหตุจากภายนอกและภายใน


18.   ปัจจัยภายนอกได้แก่ สระผมดึก ๆ สระผมแล้วไม่เป่าแห้ง ใส่กระโปรง เสื้อผ้าสั้น ลอยตัว ที่ทำให้บริเวณเอว ท้อง หรือขาเย็น ดังนั้นควรแก้ไขด้วยการทำให้ร่างกายอบอุ่น


19.   ปัจจัยภายในได้แก่ การกินอาหารฤทธิ์เย็น (เหมือนที่แผนไทยพูดไป) แต่เสริมเรื่องการกินปลาดิบ ผักสด ที่ก็เป็นอาหารฤทธิ์เย็นเช่นกัน ดังนั้นควรแก้ไขด้วยการหลีกเลี่ยงอาหารเหล่านี้


20.   ส่วนการปวดท้องเมนส์จากชี่ติดขัด อาการจะปวดแน่น ๆ เมนส์เป็นลิ่มเยอะ ก่อนเมนส์มาจะเจ็บคัดเต้านม สาเหตุมาจากความเจ้าอารมณ์ โมโห เก็บความไม่พอใจไว้


21.   การรักษาชี่ติดขัด คือต้องปล่อยวาง ออกกำลังกาย ผ่อนคลายอารมณ์ และกินตังกุย (บำรุงเลือด) ชาดอกไม้ ชาดอกคำฝอย (แต่การกินชาต้องระวัง คนที่เมนส์มาเยอะอยู่แล้วไม่ควรกิน)



สรุป


22.   แนะนำให้ทบทวนว่าอาการปวดท้องเมนส์ของเรามีโรคอย่างอื่นซ่อนอยู่ไหม ถ้าเข้าข่ายมีโรคอยู่ควรพบหมอสูตินรี ฯ เพื่อดูว่ามีสาเหตุอื่น ๆ ตามแผนปัจจุบันหรือไม่


23. หากไม่เข้าข่ายมีโรค ลองปรับอาหารและพฤติกรรมตามในบทความนี้ได้ อาจจะช่วยบรรเทาอาการปวดท้องเมนส์ได้


24.  และถ้าใครที่มีอาการปวดท้องเมนส์ แนะนำให้จดบันทึกอาการ พฤติกรรมการกินอาหาร และยา เพื่อเป็นข้อมูลช่วยประกอบการวินิจฉัย และตัวเราเองจะได้สังเกตตัวเองเพิ่มเติมไปด้วย

 

หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้เข้าใจเรื่อง “เพราะอะไรช่วงเมนส์มาควรหลีกเลี่ยงน้ำมะพร้าว” และหวังว่าคงทำให้ใครหลายคนมีแนวทางในการดูแลเรื่องปวดท้องเมนส์เพิ่มเติมนะคะ 


ขอขอบคุณหมอมาร์ค พท.ป.นันทวัฒน์ วิจิตรวงศ์กร (แพทย์แผนไทยประยุกต์) และหมอจิง พจ.ชลิดา สิทธิชัยวิจิตร (แพทย์แผนจีน) ที่มาแลกเปลี่ยนมุมมองกันค่ะ


บทความโดย พญ.ขวัญชนก หอมแสงประดิษฐ

เพจน้องสาว - LittleSisCare

Last Updated - August 2021

ใหม่กว่า เก่ากว่า