ในตอนที่ 3 ของซีรีส์เรื่องการล่วงละเมิดทางเพศ อยากชวนให้ทุกคนอ่านบทความนี้ โดยจินตนาการว่ากำลังอ่าน ‘จดหมาย’ ที่เขียนโดยผู้ที่เคยประสบเหตุการณ์ล่วงละเมิดทางเพศมาถ่ายทอดเรื่องราวชีวิต ว่าหลังเกิดเหตุการณ์ล่วงละเมิดทางเพศแล้ว ชีวิตและจิตใจเป็นยังไงบ้าง
ถึง...เธอ
หากเธอไม่เคยโดนลวนลาม โดนข่มขืน หรืออยู่ในสถานการณ์ที่เกือบจะโดนข่มขืน เธออาจจะไม่ค่อยเข้าใจพวกเราว่าเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตบ้าง
เพราะช่องทางสื่อก็ไม่ค่อยได้พูดถึงเท่าไหร่ คนที่โดนก็ไม่ค่อยกล้าออกมาให้สัมภาษณ์เรื่องนี้หรอก เวลาคนใกล้ตัวมาถาม เราก็มักจะยิ้ม ๆ แล้วบอกว่า “เฮ้ย ไม่เป็นไร เราโอเคแล้ว”
แต่จริง ๆ แล้ว ภายใต้ใบหน้ายิ้ม ๆ นั้น มันมีบาดแผลซ่อนอยู่เต็มไปหมด บางแผลก็ยังเจ็บปวดใจ บางครั้ง เราก็คิดว่าเราหายดีแล้วนะ แต่พอได้ยินข่าวอะไรเหล่านี้ มันก็กระตุ้นให้เราเจ็บปวดใจขึ้นมาทุกที
เราจะเล่าให้เธอฟังเอง ว่าหลังจากเกิดเหตุการณ์ในวันนั้น ที่เธอเห็นในข่าวน่ะ มันเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตเราและจิตใจเราเปลี่ยนแปลงไปยังไงบ้าง
“กลัว”
ในช่วงนึง เราก็เกิดอาการกลัวผู้ชายไปเลย เพราะคนที่เค้าทำเราเป็นผู้ชายน่ะ มันเป็นความรู้สึกกลัว แต่บางครั้งก็เป็นความรู้สึกรังเกียจ มีพวกเราบางคนกลายเป็นกลัวการมีเซ็กซ์ด้วย ถึงแม้ว่าจะผ่านเรื่องนี้ไปหลายปี พอจะมีเซ็กซ์กับคนรัก กลับมีไม่ได้ มันจะนึกถึงเหตุการณ์นั้นขึ้นมาตลอดเลย
“PTSD”
เรากลัวอะไรที่คล้าย ๆ กับเหตุการณ์วันนั้น เช่น เจอคนที่แต่งตัวคล้าย ๆ กับคนนั้น สถานที่คล้าย ๆ เดิม เราก็จะพยายามหลีกเลี่ยง แต่บางทีที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็จะเกิดอาการกลัวขึ้นมา บางครั้งเราไม่ได้แค่รู้สึกกลัวเฉย ๆ นะ เรามีใจสั่น มือสั่นด้วย หมอบอกว่าเราเป็น PTSD (Post-traumatic stress disorder) หรือภาวะป่วยเมื่อเจอเหตุการณ์ที่รุนแรงกระทบกระเทือนจิตใจมาก เหตุการณ์ที่ว่าก็เช่น พวกสงคราม ภัยพิบัติ ฆาตกรรม และก็ข่มขืน อืม เราเป็นแบบนั้นเลย
“รังเกียจตัวเอง”
ร่างกายของเราเหมือนโดนสิ่งที่ไม่ดีมาแปดเปื้อน ไม่รู้จะเปรียบเทียบให้เธอฟังยังไง ถ้าเธอรู้สึกรังเกียจขาตัวเองที่โดนแมลงสาบไต่ขา สิ่งที่เกิดขึ้นกับเรา มันมากกว่าแมลงสาบไต่ขาเป็น 100 เท่า 1000 เท่า ซึ่งมันไม่ใช่แค่อาบน้ำแล้วจะรู้สึกดีขึ้น แต่ความแปดเปื้อนมันฝังอยู่ในใจเรา และต้องใช้เวลาชำระล้างมันนานเป็นปี ๆ เลยนะกว่าจะดีขึ้น
“ซึมเศร้า วิตกกังวล”
พวกเราหลาย ๆ คนที่เจอเหตุการณ์นี้ก็ได้รับคำวินิจฉัยนี้มาจากหมอล่ะ โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล
เธออาจจะรู้สึกว่า หลาย ๆ คนก็เป็นกัน แล้วเราจะมาบ่นอะไร จริงอยู่ว่าโรคนี้ก็ดีขึ้นได้ แต่โรคนี้เราได้รับมันมาหลังจากเราผ่านเหตุการณ์ล่วงละเมิดทางเพศนะ เธอคิดว่าเราสมควรจะได้รับมันมั้ย
“พยายามฆ่าตัวตาย”
มีพวกเราบางคนที่พยายามฆ่าตัวตายด้วยล่ะ แต่ไม่สำเร็จหรอก ไม่งั้นเราคงไม่ได้มาเล่าให้เธอฟังในวันนี้หรอกนะ
เรื่องราวที่เขียนมาทั้งหมดก็เป็นส่วนหนึ่งจากพวกเราที่เคยผ่านเหตุการณ์เหล่านี้ เหตุการณ์ของพวกเราอาจจะแตกต่างกัน วิธีและเวลาในการรับมือของแต่ละคนก็คงแตกต่างกันไป บางคนมีแผลในใจที่ยังใหม่ บางคนแผลในใจก็เหมือนจะจางหายไปแล้ว แต่ประสบการณ์ชุดข้างบนนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับชีวิตพวกเราจริง ๆ
เธออาจจะอยากพิมพ์ให้กำลังใจพวกเรา แต่เราว่ามันอาจจะไม่ได้จำเป็นนักหรอก เราแค่หวังว่าเมื่อพวกเธอได้อ่านแล้วคงจะเข้าใจเรามากขึ้น แล้วถ้าเธอทำอะไรที่ช่วยเรื่องนี้ได้ เธอก็ทำเถอะนะ
จาก...พวกเราผู้ที่เคยเจอเหตุการณ์ล่วงละเมิดทางเพศ
หวังว่าจดหมายฉบับนี้ (บทความนี้) จะทำให้ใครหลายคนเข้าใจมากขึ้นว่าเหตุการณ์ล่วงละเมิดทางเพศไม่ใช่แค่เรื่องเล็ก ๆ หากพวกเราในฐานะมนุษย์ตัวเล็ก ๆ คนหนึ่งพอจะทำอะไรได้ก็ทำเถอะ เช่น อย่าเพิกเฉยกับเหตุการณ์ สอนลูกหลานให้ไม่ไปละเมิดใคร เป็นต้น
คนเล็ก ๆ ทำเรื่องเล็ก ๆ เมื่อรวมกันก็เป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ได้ เพราะเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศไม่ใช่แค่ปัญหาของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของทุกคนที่ต้องช่วย ๆ กัน
ในตอนหน้าจะรวบรวมคำแนะนำและกำลังใจจากผู้ที่เคยประสบเหตุการณ์ ส่งต่อถึงผู้ที่เคยประสบเหตุการณ์คล้าย ๆ กัน หากใครมีอะไรอยากส่งต่อถึงกันและกัน สามารถส่งข้อความเหล่านั้นมาทางหลังไมค์ได้ ทางเราจะทำหน้าที่เป็นสะพานที่ส่งต่อข้อความเหล่านั้นให้ค่ะ
เพจน้องสาว