ถั่งเช่า ช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางเพศได้จริงหรือ


หลาย ๆ คนคงได้ยินชื่อสมุนไพรชนิดนี้ โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่มีข่าวเรื่องการโฆษณาถั่งเช่าอย่างมากมาย จนมีคนซื้อทานเป็นจำนวนมาก ในขณะที่บางคนก็มีอาการไตวายจนหมอ ๆ ต้องออกมาบอกให้ระวังการกินสมุนไพรนี้


สรรพคุณหนึ่งที่ถั่งเช่าได้รับการพูดถึงบ่อย ๆ ว่าช่วยได้คือเรื่อง สมรรถภาพทางเพศ หรือบางคนก็เรียกว่า ‘ไวอากร้าแห่งเทือกเขาหิมาลัย’ กันเลยทีเดียว


ด้วยความที่เป็นแพทย์ที่สนใจเรื่องสุขภาพทางเพศ ก็เลยไปหาข้อมูลเพิ่มเติมมาว่า สรรพคุณที่ยกขึ้นมานั้น มันมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์รองรับมากน้อยแค่ไหน



ถ้าเข้าไปกดค้นหาดูใน google จะพบว่าข้อมูลส่วนใหญ่มาจากร้านค้า หรือโรงงานที่เกี่ยวข้องกับการขายถั่งเช่า เวลาอ่านข้อมูลเหล่านี้ ให้คิดดี ๆ ว่าจริง ๆ ผู้เขียนมีวัตถุประสงค์แอบแฝงอะไรรึเปล่า แม้ว่าในตอนท้ายจะแปะงานวิจัยเป็นสิบ ๆ ก็ตาม


ทั้งบทความจากบริษัท และบางบทความให้ความรู้ที่ดูน่าเชื่อถือ หากใครได้ลองอ่านดูจะพบข้อมูลว่า “มีงานวิจัยในผู้ชาย 22 คน ใช้ถั่งเช่าเป็นอาหารเสริม สามารถเพิ่มจำนวนสเปิร์มในอสุจิได้ 33% และลดปริมาณสเปิร์มที่ผิดปกติลง 29%”


แอดจึงได้ไปสืบค้นในแหล่งค้นหางานวิจัยเพิ่มเติม จึงพบว่า จริง ๆ แล้ว ข้อมูลข้างต้นมีการใช้คำที่ผิดไป เพราะในงานวิจัยที่รวบรวมข้อมูลชุดนี้มา ใช้คำว่า ‘male’ ไม่ได้ใช้คำว่า ‘men’ จึงหมายถึงงานวิจัยในเพศชายแต่ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าเป็น มนุษย์เพศชาย หรือ หนูเพศชายกันแน่


ข้อมูลดังกล่าวต้นตอมาจากงานวิจัยเมื่อปี 1986 ชื่อว่า Medicinal chemistry, pharmacology and clinical applications of fermented mycelia of Cordyceps sinensis and JinShuBao capsule. แต่ด้วยความพยายามแล้ว แอดไม่สามารถหางานวิจัยต้นฉบับมาอ่านได้ หากใครค้นเจอก็รบกวนกระซิบมาหน่อยนะ


จากเรื่องนี้แค่อยากชี้ให้เห็นว่า บางครั้งข้อมูลที่เราถ่ายทอดกันต่อ ๆ มา มันอาจจะผิดเพี้ยนไปจากข้อมูลเริ่มต้น ก็เหมือนการเล่นต่อแถวกระซิบประโยคกัน หัวแถวส่งสารอย่างหนึ่ง แต่พอถึงท้ายแถว สารก็เพี้ยนไปจากความจริงซะแล้ว


สำหรับงานวิจัยชิ้นอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องสมรรถภาพทางเพศ ก็พบว่าส่วนใหญ่การทดลองจะมาจากสัตว์ทดลองแทบทั้งหมด เช่น หนู หมูป่า หรือหากเจองานวิจัยในคน ก็เป็นงานวิจัยที่เก่ามาก ๆ โดยไม่สามารถไปตามหาต้นฉบับได้เช่นกัน



ไม่ว่าจะกินสมุนไพรตัวใด แม้ว่าผู้ขายจะเรียกว่า ‘สมุนไพร’ ‘อาหารเสริม’ หรือคำใด ๆ ก็ตาม ถ้าเราจะกินเข้าไปในร่างกาย อยากให้พิจารณาข้อมูลให้รอบด้าน และเชื่ออย่างมีวิจารณญาณ กระทั่งทางแพทย์แผนจีนเองก็ระบุไว้ ว่าถั่งเช่าคือยา ไม่ใช่อาหารเสริม


ขอแนะนำให้แจ้งข้อมูลแก่แพทย์ผู้ดูแลเสมอ อย่างน้อยจะได้ช่วยประเมินได้ว่าควรจะทดลองกินหรือไม่ และช่วยติดตามค่าตับค่าไตให้ไม่เป็นอันตราย โดยเฉพาะในคนไข้เบาหวาน ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคหัวใจ และผู้ที่กินยากดภูมิคุ้มกัน


ในความคิดเห็นส่วนตัวแอด ไม่ได้ต่อต้านการกินถั่งเช่า เพราะมันก็อาจจะช่วยเรื่องสมรรถภาพทางเพศได้จริง ๆ ตามศาสตร์ของแพทย์แผนจีน เพียงแต่อยากให้ทุกคนได้ข้อมูลที่ตรงตามความเป็นจริง และใช้วิจารณญาณก่อนจะตัดสินใจกินยาหรือสมุนไพรใด ๆ เท่านั้นเอง


Reference:

Jiraungkoorskul, K., & Jiraungkoorskul, W. (2016). Review of Naturopathy of Medical Mushroom, Ophiocordyceps Sinensis, in Sexual Dysfunction. Pharmacognosy reviews, 10(19), 1–5.


Chang, Y., Jeng, K. C., Huang, K. F., Lee, Y. C., Hou, C. W., Chen, K. H., Cheng, F. Y., Liao, J. W., & Chen, Y. S. (2008). Effect of Cordyceps militaris supplementation on sperm production, sperm motility and hormones in Sprague-Dawley rats. The American journal of Chinese medicine, 36(5), 849–859.

Lin B, Li S. Cordyceps as an Herbal Drug. In: Benzie IFF, Wachtel-Galor S, editors. Herbal Medicine: Biomolecular and Clinical Aspects. 2nd edition. Boca Raton (FL): CRC Press/Taylor & Francis; 2011. Chapter 5.


ใหม่กว่า เก่ากว่า