แชร์ประสบการณ์ดูงาน ‘การดูแลเรื่องสุขภาพเพศที่อังกฤษ’

 

sexual healthcare in England



เมื่อตอนเรียนต่อเฉพาะทางเวชศาสตร์ครอบครัว ได้มีโอกาสไปเรียนวิชาเลือกที่อังกฤษ 1 เดือน เป็นช่วงเวลาสั้น ๆ ที่ได้เรียนรู้และเปิดมุมมองเยอะมาก ทั้งในด้านการแพทย์ การศึกษา และวิถีชีวิต 


แต่วันนี้ขอเล่าเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับ ‘สุขภาพเพศ’ จริง ๆ ต้องบอกเลยว่า ประสบการณ์ตอนนั้นเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจให้เริ่มทำเพจน้องสาว เพราะอยากทำให้การดูแลสุขภาพเพศในบ้านเราดีขึ้น 



1.คลินิกสุขภาพเพศที่อังกฤษจะอยู่ในนาม ‘GUM clinic’ ย่อมาจาก Genitourinary Medicine Clinic ซึ่งคลินิกประเภทนี้จะกระจายอยู่ทั่วประเทศ ในทุก ๆ ชุมชน 


2.ในแต่ละพื้นที่จะมีการบริหารและปรับแต่งให้เหมาะสมกับพื้นที่นั้น ๆ เช่น ในพื้นที่นี้มีวัยรุ่นมาก จะจัดให้เอื้อกับวัยรุ่น ในพื้นที่นั้นเป็นเมืองแห่งความหลากหลายทางเพศ จะจัดให้เอื้อกับคนที่มีความหลากหลายทางเพศ 


3.ในเมือง Brighton ที่แอดไปดูเป็นเมืองแห่งความหลากหลายทางเพศ มีห้องน้ำที่สามารถใช้ได้ทุกเพศ และก็มีคลินิกเฉพาะในคลินิกเพศอีกที เป็น MSM clinic (ชายมีเพศสัมพันธ์กับชาย) , Trans clinic (คนข้ามเพศ) 


4.คลินิกสุขภาพเพศมีหลายวิชาชีพที่ให้บริการ ทั้งแพทย์ที่จบสาขา GUM (ไม่มีสาขานี้ในเมืองไทย) แพทย์ทั่วไปที่ฝึกปฏิบัติจนเชี่ยวชาญ พยาบาล นักเทคนิคการแพทย์ นักจิตวิทยา เภสัชกร นักให้คำปรึกษา นักบำบัด นักสุขศึกษา 


5.แต่ละคลินิกอาจมีความเชี่ยวชาญไม่เหมือนกัน ขึ้นกับประชากร และบุคลากรในคลินิกนั้น ๆ 


6.การบริการมีตั้งแต่การคุมกำเนิด การตรวจการตั้งครรภ์ การรับยาฮอร์โมนสำหรับข้ามเพศ การฉีดวัคซีน การตรวจคัดกรองโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ การรับยาป้องกันไวรัสเอชไอวี (PrEP, PEP) รับคำปรึกษาเรื่องการยุติการตั้งครรภ์และการล่วงละเมิดทางเพศ 


7.การบริการทั้งหมดในด้านบนนั้น ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย เพราะอยู่ในระบบประกันสุขภาพของเขาทั้งหมด 


8.จุดนั่งรอ มีแผ่นพับให้ข้อมูลสุขภาพที่ออกโดยรัฐบาล หรือในนาม NHS (National Health Service) ข้อมูลใหม่ สวย และเชื่อถือได้ 


9.จุดนั่งรอ มีชุดทดสอบการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์แจกให้ไปตรวจกันได้ฟรี ๆ ซึ่งชุดทดสอบพวกนี้ในคลินิกหมอทั่วไปก็มีแจกเหมือนกัน (ตอนไปดูงานที่คลินิกทั่วไปก็เจอ) 


10.การนัดพบมีทั้งแบบนัดหมายล่วงหน้า และ walk-in ต่างกันไปในแต่ละคลินิก ซึ่งขึ้นกับพฤติกรรมของประชากรในพื้นที่นั้น ๆ ด้วย 


11.ก่อนรับบริการจะมีการทำบัตรโรงพยาบาล ซึ่งจะสามารถเลือกคำนำหน้าได้ ระบุเพศได้มากกว่าแค่ชายและหญิง และมีช่องสำหรับกรอก ‘ชื่อที่อยากให้เรียก’ (preferred name) 


12.ข้อมูลสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศหรือเรื่องอื่น ๆ จะมีการเก็บเป็นความลับอย่างดี โดยให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับรายนั้น ๆ เท่านั้นที่ดูได้ ต้องใช้นามบัตรในการสแกนเพื่อเข้าระบบ 


13.ส่วนเรื่องความสุขทางเพศ เสียว เสร็จ อารมณ์ทางเพศ จะมีนักบำบัดทางเพศ (sex therapist) เป็นคนดูแล (เหมือนแม่โอทิสในเรื่อง sex education) 


14.นักบำบัดทางเพศบางคนก็เป็นนักบำบัดเฉพาะทางที่เรียนมาด้านนี้เลย แต่บางคนก็เป็นบุคลากรทางการแพทย์อื่น ๆ ที่ไปฝึกฝนเพิ่มเติมมา ทั้งหมอและพยาบาล 


15.GUM clinic บางที่มีนักบำบัดทางเพศด้วย ซึ่งนั่นแปลว่าสามารถเบิกค่าใช้จ่ายได้ทั้งหมด 



16.เขียนมาถึงตรงนี้ก็อดไม่ได้ที่จะพูดถึงประเทศไทยบ้าง ปัจจุบันการดูแลเรื่องเพศในประเทศไทยไม่เหมือนกับการดูแลที่ประเทศอังกฤษ 


17.ภาพที่เห็นชัดเจนที่สุดในไทยคือ หากเป็นเรื่องการคุมกำเนิด ให้ไปหาหมอสูติฯ หากเป็นเรื่องการติดเชื้อ ไปหาหมอทั่วไปก่อน แล้วอาจส่งต่อพบหมอโรคติดเชื้อ (ถ้าจำเป็น) หากเป็นเรื่องฮอร์โมน ต้องไปหาหมอที่คลินิกเฉพาะที่รู้กันในกลุ่มคนข้ามเพศ 


18.เรื่องความสุขทางเพศยังเป็นช่องว่างที่หลาย ๆ คนยังไม่เห็นภาพว่าถ้ามีปัญหาเรื่องนี้ต้องไปหาใคร โดยเฉพาะผู้หญิง (ผู้ชายอาจพอมีข้อมูลว่าถ้ามีปัญหาเรื่องจู๋ให้ไปหาหมอจู๋) 


19.หลังไมค์เพจน้องสาว พบว่าหลาย ๆ คนต้องการข้อมูลว่าจะไปหาใคร ไปหาที่ไหน ทำนัดยังไง และก็อยากรู้ด้วยว่าค่าใช้จ่ายจะแพงไหม


20.แต่เดิมประเทศไทยไม่มีการฝึกอบรมในด้านบำบัดทางเพศเลย แต่ตั้งแต่ปี 2019 เริ่มมีการฝึกอบรมนำทีมโดย อ.อติวุทธ กมุทมาศ คลินิกสุขภาพเพศ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ เกิดเป็นคอร์สสำหรับบุคคลทั่วไปและแพทย์ที่มีความสนใจในเรื่องนี้ มาร่วมกันดูแลสุขภาพเพศของคนไทยให้ดีขึ้น 


21.แอดได้ไปร่วมเป็นนักเรียนในคอร์สรุ่นที่ 1 ในช่วงปลายปี 2019 และได้ร่วมเป็นวิทยากรสอนเรื่องการพูดคุยเรื่องเพศและการดูแลแบบองค์รวมในเรื่องเพศ ในคอร์สต่อ ๆ มา สำหรับใครที่สนใจจะแปะข้อมูลไว้ในคอมเมนต์ 


22.ปัจจุบันมีบุคลากรทางการแพทย์จำนวนมากขึ้นที่สนใจเรื่องเพศ และกำลังให้บริการเรื่องนี้อยู่ แอดจะรวบรวมข้อมูลกับทางทีมคลินิกสุขภาพเพศ ธรรมศาสตร์ และนำมาเผยแพร่กันอีกครั้ง 


23.การดูแลเรื่องความสุขทางเพศในประเทศไทย ยังต้องชำระค่าบริการในทุกสิทธิการรักษา รวมถึงการเบิกจ่ายยาไวอะกร้า หรือเจลหล่อลื่นก็ตาม... 



จากข้อมูลที่เล่าเป็นสิ่งที่แอดได้ไปสัมผัสมาในช่วงปี 2018 เมือง Brighton ประเทศอังกฤษ หากใครอยู่ที่นั่นอยู่แล้ว และมีประเด็นเพิ่มเติมทั้งข้อดีและข้อเสีย สามารถเล่าสู่กันฟังได้นะคะ หรือใครที่อยู่ในประเทศอื่น ๆ ก็สามารถร่วมเล่าได้เช่นกัน 


รวมถึง เราอยากเห็นระบบการดูแลเรื่องสุขภาพเพศแบบไหนในไทย มาแลกเปลี่ยนกันได้ค่ะ


เพจน้องสาว

ใหม่กว่า เก่ากว่า