"ไวรัสเอชพีวี (HPV)"
1. ไวรัส HPV คือไวรัสชนิดหนึ่งที่ก่อให้เกิดโรคได้ เช่น หูดหงอนไก่ มะเร็งปากมดลูก ซึ่งเป็นโรคที่รู้จักกันดี แต่จริง ๆ ไวรัสตัวนี้ยังสามารถเกิดมะเร็งที่ปลายจู๋ ทวารหนัก ช่องปากได้อีกด้วย
2. นั่นแปลว่าไม่ใช่แค่ผู้มีจิ๋มที่จะได้รับประโยชน์จากการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัส HPV แต่ผู้ชาย ผู้มีจู๋ และเพศอื่น ๆ ก็ได้ประโยชน์จากวัคซีนนี้เช่นกัน
3. ไวรัส HPV แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มสายพันธุ์ใหญ่ ๆ คือ สายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงต่ำที่จะทำให้เกิดมะเร็ง กับเสี่ยงสูง ขอเรียกสั้น ๆ ว่า ไม่ก่อมะเร็ง กับ ก่อมะเร็ง
4. สายพันธุ์ที่ไม่ก่อให้เกิดมะเร็ง ตัวที่พบได้บ่อย (ประมาณ 90%) คือสายพันธุ์ 6 และ 11 กลุ่มนี้มักทำให้เกิดหูดหงอนไก่
5. สายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดมะเร็ง ตัวที่พบได้บ่อย (ประมาณ 70%) คือสายพันธุ์ 16 และ 18
6. การติดเชื้อไวรัส HPV ไม่ได้ทำให้เกิดโรคทุกราย เพราะเชื้อตัวนี้ บางทีอยู่ดี ๆ มันก็หายไปได้เอง (เหมือนหวัด) แต่ถ้ามันไม่หายไป อาจจะก่อโรคขึ้นมา
"วัคซีนป้องกัน HPV"
1. วัคซีน HPV ฉีดได้ทุกเพศ เพราะเกิดที่อวัยวะอื่น ๆ ได้ด้วยอย่างที่บอกไป
2. จะดีที่สุด ถ้าฉีดวัคซีนก่อนการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก หรืออายุราว ๆ สัก 11-12 ปี
3. หากไม่เข้าข่ายในข้อบน อย่างน้อยฉีดก่อนอายุ 26 ปีก็ยังเป็นที่แนะนำเช่นกัน
4. หากอายุเกิน 26 ไปแล้ว การฉีดอาจจะต้องคุยกับแพทย์เพื่อประเมินประโยชน์ที่จะได้รับจากวัคซีนนี้
5. ส่วนใหญ่ก็จะประเมินในแง่ว่า ตลอดชีวิตที่ผ่านมามีโอกาสติดเชื้อไปหรือยัง เช่น ถ้ามีเซ็กซ์แล้ว มีคู่นอนหลายคน ไม่ได้ป้องกัน ก็มีโอกาสที่จะติดเชื้อเหล่านั้นไปนานแล้ว อาจจะไม่คุ้มค่านักที่จะฉีดวัคซีน
6. ก่อนฉีดวัคซีน ไม่จำเป็นต้องตรวจว่าติดเชื้อไวรัสนี้หรือยัง เพราะหากตรวจแล้วพบเชื้อตัวหนึ่ง ก็ยังได้ประโยชน์จากการฉีดแล้วครอบคลุมตัวอื่นอยู่ดี เช่นเจอ 16 ฉีดวัคซีนก็ยังครอบคลุม 18
7. วัคซีน HPV ปัจจุบันมี 3 แบบ ขอเรียกว่า 2, 4, 9 ตามจำนวนสายพันธุ์ที่วัคซีนครอบคลุม โดยแบบ 2 และ 4 นี่มีมานานแล้ว ส่วน 9 สายพันธุ์เพิ่งเข้าไทยได้ประมาณปีนึง
8. การฉีดวัคซีนทุกแบบ จะต้องฉีดทั้งหมด 3 เข็มในช่วงเวลา 6 เดือน (ยกเว้นอายุน้อยกว่า 15 ปี จะฉีดแค่ 2 เข็มเท่านั้น)
9. วัคซีน 2 ป้องกันไวรัส 16 และ 18 ที่ก่อมะเร็ง (หากลืมแล้วให้ขึ้นไปดูข้อ 5)
10. วัคซีน 4 ป้องกันไวรัส 16, 18 และ 6, 11 เพิ่มตัวหูดหงอนไก่ (หากลืมแล้ว ให้ขึ้นไปดูข้อ 4-5)
11. วัคซีน 9 ป้องกันไวรัสทุกตัวเหมือนวัคซีน 4 แต่เพิ่มมาอีก 5 สายพันธุ์ที่เป็นกลุ่มก่อให้เกิดมะเร็งได้
12. วัคซีน 9 เพิ่มการครอบคลุมสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดมะเร็งจาก 70% เป็น 90%
13. ปัจจุบันวัคซีน HPV (แบบ 2 และ 4 สายพันธุ์) ฉีดให้ฟรีในเด็กหญิงชั้น ป. 5 ตามนโยบายจากกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ
14. คนอื่น ๆ ต้องชำระค่าใช้จ่ายในการฉีดวัคซีนนี้เอง โดยค่าใช้จ่ายของวัคซีน 2 หรือ 4 ราคาคอร์สละประมาณ 6,000 บาทขึ้นไป ขึ้นกับแต่ละโรงพยาบาล
15. แต่วัคซีน 9 ปัจจุบันมีฉีดเฉพาะที่รพ.เอกชนเท่านั้น (รออีกสักพักคงเข้ารพ.รัฐบาล) ราคาคอร์สละประมาณ 20,000 บาท
16. ข้อนี้เว้นพื้นที่ไว้ให้ตกใจกับราคาในข้อบน OMG
"ประเด็นที่สำคัญ"
1. หากไม่เคยฉีดเลย ควรเลือกฉีดตัวไหน - ต้องบอกตามจริงว่า ขึ้นกับงบประมาณของตัวเองเป็นหลัก
2. หากเคยฉีด 2 หรือ 4 แล้ว จำเป็นต้องฉีด 9 เพิ่มหรือไม่ - ตามคำแนะนำคือไม่จำเป็น แต่หากอยากฉีดให้ลองคิดว่า การฉีด 9 เพิ่ม เสมือนการลงทุนที่แลกกับการป้องกันไวรัสอีก 5 ตัวที่ได้เพิ่ม อาจพิจารณาจากพฤติกรรมเพศสัมพันธ์ของตัวเอง (เอ.. หรือฉันติด 5 ตัวนี้ไปแล้วน้า มีเซ็กซ์ก็ไม่ได้ใส่ถุงยาง คู่นอนหลายคน) กับเรื่องงบประมาณ (เอ.. ถ้าฉันจ่ายไป 2 หมื่นกว่า ฉันจะเครียดกับเงินก้อนนั้นที่หายไปไหม)
3. ข้อนี้สำคัญมาก การฉีดวัคซีนไม่สามารถใช้ทดแทนการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกได้ แนะนำให้ทำควบคู่กันไป
4. เพียงฉีด 2 หรือ 4 สายพันธุ์ ร่วมกับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกก็สามารถลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้ถึง 90% แล้ว
"สรุปส่งท้าย"
1. วัคซีน HPV สามารถฉีดได้ทุกเพศ เพราะโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสนี้ สามารถก่อโรคได้กับทุกเพศเช่นกัน ไม่ได้เกิดเฉพาะคนที่มีปากมดลูกเท่านั้น
2. อีกเรื่องที่อยากเน้นสำหรับชาวมีปากมดลูกคือ การป้องกันมะเร็งปากมดลูก ไม่ได้มีเฉพาะการฉีดวัคซีนเท่านั้น แต่ยังมีการใช้ถุงยาง แผ่นยางอนามัย และการตรวจภายในเพื่อคัดกรองมะเร็งอีกด้วย
ขอบคุณ พญ.ณิชา อัศวโภคี สูตินรีแพทย์ที่มาร่วมสนทนากันและช่วยตรวจสอบความถูกต้องของบทความนี้อีกครั้ง
เพจน้องสาว