Body Shaming การวิจารณ์รูปลักษณ์ที่ไม่ได้จบแค่ดราม่า แต่กระทบถึงสุขภาพเพศได้



ณ ห้องตรวจโรคทั่วไป

คนไข้: อ้าว หวัดดีหมอ ไม่เจอนาน ผอมลงรึเปล่า

หมอ: เปล่านะคะ ใส่เสื้อกาวน์ตัวใหญ่เกินไปมั้งคะ

คนไข้: เหรอ แต่ดูซูบไปเลย 

หมอ: แล้วเป็นยังไงบ้างคะ สบายดีมั้ยคะ 



ในเร็ว ๆ นี้ หลายคนคงได้เห็นดราม่าที่มีคนทำคลิปเกี่ยวกับการกอดผู้หญิงที่มีรูปร่างแตกต่างกัน จึงเป็นที่มาที่อยากเขียนถึงประเด็นนี้ 


เรื่อง Body Shaming หรือการวิจารณ์ ล้อเลียน หรือเหยียดรูปร่าง รูปลักษณ์คนอื่น จนส่งผลให้รู้สึกละอาย หรืออับอายกับร่างกายของตัวเขาเอง 


เรื่องนี้เป็นประเด็นที่อยู่กับสังคมเรามานานมาก จนกลืนเนียนราวกับมันเป็นเรื่องปกติ ซึ่งจริง ๆ แล้วมันไม่ควรจะเป็นแบบนั้น 


จากการสำรวจในกลุ่มน้องสาวเมาท์มอย (กลุ่มเฉพาะผู้หญิงและผู้มีจิ๋ม) พบว่า 98.2% เคยโดน Body Shaming จากคนอื่น 


และในทางกลับกัน 83.3% ก็ยอมรับว่าตัวเองก็เคย Body Shaming คนอื่นเหมือนกัน ทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ 


แอดเองก็ยอมรับว่าเคยวิจารณ์รูปลักษณ์คนอื่นเหมือนกัน แต่หลังจากได้เรียนรู้เรื่องนี้ก็พยายามมีสติก่อนพูดให้มากขึ้น 


หลาย ๆ ครั้ง เมื่อเกิด Body shaming เราอาจจะแปลความว่า คำพูดเหล่านี้คือ "ความเป็นห่วง" ไม่ใช่ "การเหยียด" 


ความเป็นห่วง มักจะเด่นชัดกว่าเวลาเราเป็นคนพูดวิจารณ์คนอื่นออกไป 


แต่การเหยียดกลับเด่นชัดเจนเวลาที่เรากลับเป็นคนที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์เอง 



เรื่อง Body Shaming มันไม่ได้จบตรงที่คนพูดคำวิจารณ์เหล่านั้นออกมา แต่มันยังส่งผลกระทบอย่างมากต่อคนที่ได้ฟังว่า "รู้สึกแย่" 


เมื่อได้ยินบ่อย ๆ จนเสียความมั่นใจในตัวเอง เสียเซลฟ์ หรือ เสีย Self Esteem ซึ่งเรื่องเหล่านี้ก็ส่งผลต่อสุขภาพจิตได้ 


และแน่นอนมันก็ส่งผลกับสุขภาพทางเพศได้เช่นกัน หากเรามองเห็นว่าตัวเองไม่เป็นอย่างที่ค่านิยมสังคมตีกรอบให้เป็น 


ไม่ว่าจะเป็นผอมไป อ้วนไป หรือบางครั้งก็ลามไปถึงเรื่องอวัยวะต่าง ๆ นมแบน นมยาน ก้นแฟบ ก้นใหญ่ 


ความมั่นใจที่จะให้คนอื่นเห็นตอนเปลือย หรือแม้กระทั่งตอนมองตัวเองก็อาจจะรู้สึกไม่ดีได้เช่นกัน 


ในแนวทางการบำบัดเรื่องสุขภาพเพศ ก็มีการบำบัดและคำแนะนำที่ช่วยให้คนนั้น ๆ เห็นตัวเองและรักตัวเองในสิ่งที่เป็นมากขึ้น 



/คนไข้ท่านเดิม เพิ่มเติมคือตรวจจะเสร็จแล้ว 


คนไข้: เอ้ แล้วหมองานหนักเหรอ ตาดำเชียว

หมอ: หมอเป็นภูมิแพ้น่ะค่ะ 

คนไข้: เหรอ แต่ดูโทรมลงเยอะเลย

หมอ: อ๋อค่ะ

คนไข้: หมอกินให้เยอะ ๆ หน่อย ผอมไปไม่สวยนะ 

หมอ: ค่า (ยิ้มแห้ง ๆ อยู่ใต้แมสก์) 


.


บางครั้งเราก็พยายามมองคำพูดของคนอื่นว่าเค้าเป็นห่วง (อาจจะเพื่อเยียวยาให้ตัวเองไม่รู้สึกแย่นัก) 

แต่ถ้าเลือกได้ หากเราไม่ทักกันเรื่องรูปลักษณ์ภายนอกก็คงจะดีกว่า


เพจน้องสาว

ใหม่กว่า เก่ากว่า